หินก่อสร้าง

 

หินก่อสร้างนั้นแบ่งออกได้มากมายหลายชนิด ที่เห็นๆและใช้กันบ่อยก็เช่น หินคลุก หิน1 หิน2 หินลูกรัง หินเกร็ด หินฝุ่น เป็นต้น โดยผมจะขออธิบายแยกตามประเภทหินต่างๆ ดังนี้1. ลูกรัง คือ หินที่ดูดมาขึ้นจากบ่อหิน บ่อทรายต่าง ๆ หินมีลักษณะ หยาบ ๆ ดูเป็นเหลี่ยม ๆ เป็นหินที่มีขนาดค่อนข้างเล็ก และ ละเอียด ส่วนมากมีสีน้ำตาลแดง ลูกรังที่ดีต้องมีเม็ดปนมาด้วยโดยขนาดเม็ดก็ตามที่กำหนดในสเปคฯคือไม่เกิน 1 นิ้ว ส่วนมากใช้สำหรับงานถมที่ ถมถนน โดยลูกค้าสามารถเลือกขนาดของลูกรังได้ว่า ต้องการก้อนขนาดใหญ่หรือขนาดเล็ก เพื่อให้เหมาะสมตรงกับการใช้งานของลูกค้ามากที่สุด

2. หินคลุก เป็นหินปูนที่ย่อยจนมี เกรดเดชั่น ที่เรียกว่า well grade โดยเป็นหินที่มีขนาดแตกต่างกันมาปนกัน ไม่สามารถนำไปเป็นหินก่อสร้าง หรือ นำไปบดเป็นปูนซีเมนต์ได้ เพราะไม่ได้ขนาดหรือแร่ธาตุตามที่ต้องการ โดยส่วนมากใช้สำหรับเป็น ชั้นพื้นทางในงานถนน สามารถใช้ถมถนนร่วมกับหินลูกรังได้ หรือ นำไปทำอิฐบล็อค โดยหินคลุกนั้นยังแบ่งย่อยออกเป็นอีกหลากหลายเกรด แล้วแต่ความเหมาะสมในการใช้งาน

3. หินก่อสร้าง (หิน1, หิน 2, หิน3/4, หินฝุ่น, หินเกล็ด) เป็นหินตะกอนคาร์บอเนต เกิดจากการทับถมของตะกอนคาร์บอเนตในท้องทะเล ทั้งจากสารอนินทรีย์ และซากสิ่งมีชีวิต ซึ่งถับถมกันภายใต้ความกดดันและตกผลึกใหม่เป็นแร่แคลไซต์จึงทำปฏิกิริยากับกรด หินปูนใช้ทำเป็นปูนซิเมนต์ และใช้ในการก่อสร้าง

4. หินกรวด เป็นหินเนื้อหยาบเกิดจากตะกอนของหิน กรวด ทราย ถูกกระแสน้ำพัดพามารวมกัน สารละลายในน้ำใต้ดินทำตัวเป็นซิเมนต์ประสานให้อนุภาคใหญ่เล็กเหล่านี้ เกาะตัวกันเป็นก้อนหิน (หินที่ประกอบด้วย Grain ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางโตกว่า 2 มิลลิเมตรอยู่มากกว่า 25%ของ Grain ทั้งหมด และจะต้องมึความกลมมน อีกด้วย) ส่วนมากใช้ในการประดับตกแต่งสวน อาคารบ้านเรือน มีหลายสีหลายขนาด

หินก่อสร้างคือ หินชนิดต่าง ๆ ที่สามารถนำมาใช้ในการก่อสร้างบ้านเรือน อาคาร ถนน สะพาน โดยอาจจะนำหินก้อนใหญ่ ๆ มาเรียงสร้าง หรือหินขนาดเล็ก ที่บดย่อย นำมาใช้ผสมปูนซีเมนต์ทำคอนกรีต คุณสมบัติของหินก่อสร้าง ที่สำคัญคือ ความคงทนต่อการขัดสี ความแกร่งสูง ทนแรงกดอัดได้มาก ทนสารเคมีสูง ปริมาณคละภายหลังการย่อยบดอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ความซึมน้ำต่ำ ไม่ทำปฏิริยากับสารเคมีง่าย ผิวมีการจับเกาะกับซีเมนต์และแอสฟัลต์ดี ปริมาณอินทรีย์สารในเนื้อหินต่ำ เป็นต้น

นอกจากมาตรฐานทางคุณสมบัติที่กำหนดแล้ว บางครั้งระยะทางที่ใช้ในการขนส่งยังเป็นตัวกำหนด ทำให้บางครั้งมีความจำเป็นที่ต้องนำหินสร้างที่มีมาตรฐานต่ำกว่าเกณฑ์มาใช้ หินที่นำมาใช้ในการก่อสร้างประกอบด้วยหินปูนเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากผลิตง่าย ค่าใช้จ่ายต่ำ โดยแหล่งหินก่อสร้าง ในประเทศไทยกระจายตัวอยู่แทบทุกจังหวัด ยกเว้น จังหวัดในภาคอีสาน และที่ราบลุ่มภาคกลาง

แหล่งหินเพื่อการก่อสร้างที่สำคัญ  ได้แก่   แหล่งหินปูนในเขต อำเภอหน้าพระลาน พระพุทธบาท เฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสระบุรี เป็นแหล่งหินปูนขนาดใหญ่ ใช้เพื่อการก่อสร้างในกรุงเทพ; อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี ต่ออำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี; แหล่งหินปูนปางอโศก อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา; ภูผาม่าน อำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น; เขาน้อย อำเภอวังสะพุง อำเภอถ้ำเอราวัณ จังหวัดเลย; อำเภอตาคลี อำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์; อำเภอพรานกระต่าย จังหวัดกำแพงเพชร; บ้านมุง อำเภอเนินมะปรางค์ จังหวัดพิษณุโลก; เขาถ้ำระฆัง อำเภอศรีสำโรง จังหวัดสุโขทัย; แม่ทะ จังหวัดลำปาง; อำเภอตาขุน จังหวัดสุราษฎร์ธานี; เขาถ้ำ ตำบลบางเตย อำเภอเมือง จังหวัดพังงา และแหล่งหินปูนบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน  - แหล่งหินแกรนิต ควอตไซต์ เขาเชิงเทียน อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี  - แหล่งหินบะซอลต์ เขากระโดง อำเภอเมือง จังหวัดบุรีรัมย์; เขาพนมสวาย อำเภอเมือง อำเภอปราสาท จังหวัดสุรินทร์; อำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี